การจัดการทรัพยากรน้ำและวิกฤติน้ำท่วม

หัวข้อประเด็นบทความ
1. การจัดการทรัพยากรน้ำและวิกฤติน้ำท่วมเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือสาธารณะ


การจัดการทรัพยากรน้ำและวิกฤติน้ำท่วมเป้าประสงค์ทางการเมืองหรือสาธารณะ
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์ ; Rotoratuk.blogspot.com (เจ้าของเว็บไซด์)

                ผมตั้งชื่อประเด็นนี้ ก็เพราะมีการถกปัญหากันมากเรื่องวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ ทั้งนโยบายด้านกฎหมาย หรือนโยบายที่เป็นแนวทางการจัดการ แต่ผมก็เห็นด้วยในประเด็นหนึ่งคือวิกฤติครั้งนี้จะทำให้สามารถวางแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถาวร(ถ้าทำกันจริงจัง แต่กลัวว่าจะลืมกันไปเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น) การถกเถียงกัน มีทั้งการนำเสนอเชิงนโยบาย เชิงการจัดการทั้งด้านโครงสร้าง และวิศวะกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง บทความนี้ไม่ได้เข้าข้างใคร เพราะถือว่าคนที่มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศนั้นจะเป็นใครก็ได้ แต่ควรมีความสามารถและต้องทำเพื่อสาธารณะจริงๆ ฝ่ายค้านเป็นใครก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องค้านอย่างสร้างสรรค์ ไม่ค้านโดยถือผลประโยชน์ด้านการเมืองเป็นหลัก
1.              1. ประเด็นปัญหาด้านการเมือง
                ผมได้ชมและได้ฟังการให้สัมภาษณ์ความเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วมของนายแพทย์ ชัย วัชรงค์ เมื่อ 8 พ.ย.2554 ทรูวิชั่นช่องข่าว(TNN) ซึ่งมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ และการที่น้ำท่วมกรุงเทพครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการจัดผังเมือง ไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุรรณภูมิ นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม ต่างตั้งขวางทางน้ำไหล ทำให้การไหลของน้ำเป็นไปอย่างเชื่องช้า และท่านได้แสดงความเห็นอื่นๆที่เป็นประโยชน์กับการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งผมถือว่าเป็นประโยชน์จริงๆ
                แต่มีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งนำเสนอในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 8 พ.ย. 2554 โดยโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำเสนอข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน 6 เขื่อนได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาลงกรณ์ และเขื่อนน้ำพุง  ที่เป็นข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 6 เขื่อนซึ่งปริมาณน้ำสูงขึ้น ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2554 แถบทั้งสิ้น(ดูตัวเลขในไทยรัฐฉบับวันที่ 8 พ.ย.2554 หัวข้อข่าว “ชวนนท์ยกข้อมูลน้ำเขื่อนแก้ต่างปม ปชป.เป็นเหตุวิกฤติ” )
                ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรับบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาและท้าทายให้เปิดข้อมูลปริมาณน้ำในสองเขื่อนใหญ่คือเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล พร้อมทั้ง ตอบโต้ ตัดพ้อ การกล่าวหาดังกล่าว (หัวข้อข่าว  “ซัด ปชป.พูดไม่หมด ท้าเปิดข้อมูลเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์” 9 พ.ย.2554)
                ซึ่งประเด็นข้างต้นเป็นการเมืองชัดเจน ผมจึงนำข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหกมาให้พิจารณา ซึ่งขอให้พวกท่านทั้งหลายลองพิจารณาดู
กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2552-2554


กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ตั้งแต่ปี 2552-2554


                ทั้งสองภาพ จะพบว่าระดับน้ำระดับน้ำเริ่มพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.2554 ทั้งสองเขื่อนมีระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2554 ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ (2552,2553) แต่พิจารณาให้ดีแล้ว พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลพ้นเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุดเมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค. 2554 เขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำพ้นเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุดเมื่อเดือน ส.ค. 2554  และเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเห็นว่าน้ำล้นเขื่อนตลอดเดือนตุลาคมทั้งในปี 2553 และปีนี้คือ 2554 โดยปี 2554 ปริมาณน้ำที่ล้นน้อยกว่าปีที่แล้ว แผนภาพทั้งสามเป็นอย่างไรก็ขอให้พวกเราร่วมกันพิจารณา
กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2552-2554



                สำหรับเขื่ออุบลรัตน์ พบว่าปริมาณน้ำในช่วงเดือน ก.ย. 54 เป็นต้นไปเริ่มมีปริมาณล้นเขื่อนทั้งปี 2553 และ 2554  เขื่อนวชิราลงกรณ์ปริมาณน้ำในปี 2554 น้อยกว่า ปริมาณน้ำในปี 2552  สำหรับเขื่อนน้ำพุงมีปริมาณน้ำสูงขึ้นมากว่าทุกปี   เพราะฉะนั้นจะเห็นภาพที่ชัดเจนแล้วว่า 3 เขื่อนหลักที่เกิดปัญหาคือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนน้ำพุง ซึ่งมีปริมาณน้ำที่สูง เมื่อมาเผชิญกับ พายุในหน้าฝนถึงสามลูกจึงเกิดปัญหาไม่สามารถต้านทานปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ตั้งแต่ปี 2552-2554

กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกาณ์ตั้งแต่ปี 2552-2554

กราฟปริมาณน้ำในเขื่อนน้ำพุงตั้งแต่ปี 2552-2554


                หากพิจารณาการเข้ามาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  การเลือกตั้งจัดขึ้นวันที่ 3 ก.ค.2554  เมื่อได้รับการเลือกตั้ง มีการแต่งตั้งวันที่ 8 ส.ค.2554 และวันที่ 9 ส.ค.2554 มีพระราชโองการแต่งตั้ง จากนั้นวันที่ 10 จึงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกว่าจะปฏิบัติงานจริงได้ก็หลังจากนั้นอีกเป็นอาทิตย์ คือประมาณต้นเดือน ก.ย.54 (ล่าช้าเนื่องจากเชื่อไสยศาสตร์และใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจก่อนทำงานเป็นอย่างนี้จริงๆจนผมหรือหลายๆคนรู้สึกหงุดหงิด) ผมอยากให้พิจารณากันเองว่าระยะเวลาสูญญากาศ ที่ไม่มีคณะรัฐบาลทำหน้าที่บริหารงานด้านต่างๆจะมีดำเนินการอย่างไร
                ประเด็นที่ออกมาแฉพฤติกรรมฝ่ายตรงข้ามเป็นข้อมูลหลายด้าน ไทยโพส (9 พ.ย.54) เปิดเผยข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงการกล่าวโทษกันระหว่าพรรค ปชป.และพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤติน้ำท่วม(อ่านรายละเอียดในไทยโพส พุธที่ 9 พ.ย.2554)  หนังสือพิมพ์มติชน( 1พ.ย.2554 ) นำเสนอความคิดเห็นโดยมีข้อความว่า “นาย เจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง รมช.มหาดไทยเงาพรรคประชาธิปัตย์ นำสถิติระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลมาแสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ห็นว่าระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลยุคที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ บริหารงาน สูงถึง พันล้านลูกกบาศก์เมตรในวันที่ สิงหาคม แต่ปล่อยให้น้ำสูงถึง 1.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรจึงค่อยปล่อยน้ำออกมา แตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จะพร่องน้ำจากเขื่อนเมื่อระดับน้ำสูงไม่เกิน หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทำไมรัฐบาลชุดนี้กับปล่อยให้ระดับน้ำสูง 1.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ค่อยปล่อยน้ำ ถือว่าเกินระดับที่เขื่อนจะรับไหว เท่ากับตั้งใจให้เกิดน้ำท่วมใช่หรือไม่” นี่เป็นประเด็นการโจมตีทางการเมือง
ข้อมูลบนเว็บไซด์ของ PANTIP.com ศาลาประชาคม จาก Shuji of Thailand(3 พ.ย.54) แสดงข้อมูลการปล่อยน้ำไหลเข้าและการปล่อยน้ำไหลออก ดังตารางด้านล่าง

                จากข้อมูลในตารางพบว่า ปริมาณปล่อยน้ำไหลออกน้อยกว่าปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำไหลออกเมื่อถึงหน้าฝน หรือน้ำหลาก ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นหรือข้อโจมตีพรรคตรงข้าม(ไทยโพส 9 พ.ย.2554หัวข้อข่าว ; แฉ2 เขื่อนกักน้ำอุ้มนาข้าว) ว่าเพราะต้องการประชานิยมจากภาคเกษตร อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของข้อมูลในตารางคือความไม่ละเอียดพอ
                ทั้งหมดเป็นประเด็นทางการเมือง ที่ต่างคนต่างไม่ยอมรับผิด เพื่ออะไร? เพื่อไม่ให้คะแนนประชานิยมตกต่ำหรือ? แต่ลืมไปว่ามันตกต่ำไปแล้วทั้งสองพรรคสำหรับชนชั้นกลาง(นักการเมืองส่วนใหญ่อาจคิดว่าเรื่องเล็กเพราะคนท้องถิ่นเลือกตน ชนชั้นกลางในกทม.ไม่ได้เลือก) ทั้งสองพรรคจึงควรร่วมกันรับผิดและรับชอบ
                จะเห็นว่าประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องหลักที่นำไปสู่เหตุวิกฤติและความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาต่างๆไม่เฉพาะเรื่องวิกฤติน้ำท่วม (พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ ประสบการณ์ด้านการเมืองมีสูงมาก ทำให้การเดินเกมโดยเฉพาะการบั่นทอนคู่แข็งขันทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่เกิดความขัดแย้งภายในคงครองอำนาจได้นานกว่านี้ พรรคการเมืองเล็กๆคอยเสาะแสวง หาผลประโยชน์ทางการเมือง ทำให้ต้องไหลไปมาตามกระแสของพรรคที่กุมการบริหาร พรรคการเมืองใหม่เช่น ไทยรักไทยในอดีต ซึ่งมีกำลังเงินสูงก็มีนัยของการเป็นรัฐบาลที่ดี แต่ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลมืดของอำนาจและความทะเยอทะยาน การใช้อำนาจจนเกินพอดีทำให้ประสบกับความล้มเหลว พรรคใหม่ดังเช่นพรรคเพื่อไทย ผู้สืบทอดของนายกฯคนเก่า ไม่สามารถที่จะสลัดเงาของผู้เป็นพี่ชายออกไปได้ “ยังไงก็ไม่ได้ในสายตาของประชาชน” )
 แม้ว่าจะอยู่ในช่วงวิกฤติ ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่หยุดที่จะเล่นเกมการเมือง ถึงตอนนี้ท่านทั้งหลายคิดอย่างไร? และเราจะหาทางที่จะทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไรผมยังยืนยันตามความคิดเห็นที่เคยแสดงผ่านบทความมาแล้วคือทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลใหม่ รวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องรับผิดชอบการกระทำ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ
2.              2. ประเด็น นโยบายและกฎหมายทรัพยากรน้ำ
      ผมเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดสรรทรัพยากรน้ำของไทย ซึ่งนำเสนอตั้งแต่การพัฒนา
เศรษฐกิจยุคแรกๆ จนถึงปี 2533 มีข้อค้นพบหลายประการคือ มีการจัดสรรทรัพยากรน้ำในปริมาณสูงไปสู่ภาคเกษตรจริง มากกว่าภาคอื่นๆ แต่ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำต่อหน่วยระหว่าง ภาคเกษตร 1หน่วย กับภาคอุตสาหกรรม 1 หน่วย ต่างกัน 4- 5 เท่าตัว หมายความว่า ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำน้อยก็จริง แต่ปริมาณต่อหน่วยมากกว่า 4-5 เท่าตัว เปรียบเทียบตัวบุคคลในเมืองกับชนบทก็เช่นกัน คนในเมืองใช้น้ำมากกว่าคนในชนบท 4 เท่าตัวไม่ว่าจะใช้อาบ ดื่ม ชำระล้างและอื่นๆ
บทความในคมชัดลึก วันที่ 17 ต.ค.2554 เป็นการแสดงความคิดเห็น ประเด็น”จุดอ่อน การบริหารน้ำ ใครต้องรับผิดชอบ” (อ่านรายละเอียดได้ใน คมชัดลึก 17 ต.ค. 2554, ปีที่ 11 ฉบับที่ 3649)บทความสอดคล้องกับความคิดเห็นของผมในบทความเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ (อ่านรายละเอียดใน rotoratuk.blogspot.com; 23 .ต.ค.54 “การจัดการทรัพยากรน้ำ” )  
                อันที่จริง เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ นโยบาย กฎหมายน้ำ ได้รับการหยิบยกมาตั้งแต่ก่อนที่ผมจะทำเรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำด้วยซ้ำ(2533) แต่ไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร(พูดได้ว่าเมินเฉย) ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลภาคเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางการเมือง และเนื่องจากกลัวว่าผลกระทบจะไปตกอยู่กับชาวชนบทท้องถิ่นในภาคเกษตร นักการเมืองจะเสียคะแนนนิยม (ไม่ค่อยคิดถึงการสูญเสียการใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำของชาวบ้านและภาคเกษตรมากนัก)
                ผมเห็นด้วยต่อประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำในหลายประเด็น ทั้งนี้ผมเห็นว่า การบริหารทรัพยากรน้ำในเขื่อนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน การจัดการต้องนำมาใช้เป็น กลไกที่ทำให้ไม่เกิดปัญหาปริมาณน้ำขาดแคลน หรือล้นเขื่อนอย่างที่เป็นอยู่  เช่น กลยุทธ์การจัดการต่อปริมาณน้ำที่สนองตอบภาคเกษตรในสภาวะความจำกัดของทรัพยากรน้ำ การจัดการต่อสภาพปริมาณน้ำที่มีอยู่สูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายจากสภาวะน้ำท่วม รวมทั้งการพยากรณ์ปริมาณน้ำในปีต่างๆอย่างแม่นยำ การปล่อยน้ำไหลเข้า และการปล่อยน้ำไหลออกต้องเกิดความสมดุล ทั้งนี้ไม่มีปัญหาผลประโยชน์ด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น การจัดการกับปัญหาความขัดแย้งของภาคประชาชนในการใช้น้ำที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ เนื่องจาก ความล้มเหลวของนโยบายการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ในภาคเกษตร และจากภัยธรรมชาติความแห้งแล้ง อย่างไรก็ตามในประเด็นการจัดสรรทรัพยากรน้ำแก่ภาคเกษตร ประชาชนในท้องถิ่นสามารถทำได้ดีและมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง เนื่องจากรู้จักวิธีการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า แต่หากภาครัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวเมื่อใด จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเสมอ(ไม่เพียงแต่ทรัพยากรน้ำอย่างเดียว ทรัพยากรที่ดินก็เช่นกัน) ทั้งกับภาคประชาชนเอง รวมทั้งภาคประชาชนกับภาครัฐบาลดังตัวอย่างเช่นในสมัยคุณทักษิณชินวัตร กรณีเขื่อนปากมูล เป็นต้น
ดังนั้นการจัดการ นโยบาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับน้ำ อาจจะถูกผลักดันได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับกระบวนการทางการเมือง ซึ่งผลประโยชน์จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสูง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระความลำบากดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
3.             3. บทสรุป
ประเด็นแรกการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีข้อคิดเห็นว่านักการเมือง และข้าราชการไม่กล้าทำ ผมไม่
เห็นด้วย พวกเขาเหล่านั้นกล้าทำจึงทำให้เกิดวิกฤติน้ำในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากผลของเกมการเมืองที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น(ที่ตายรายวัน)
                ประเด็นที่สอง อิทธิพลของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอยู่สูงทำให้รัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้เพื่อสนองตอบความต้องการ เนื่องจากให้ความสำคัญตั้งแต่แรก จนทำให้เกิดการพึ่งพาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งด้านอาหาร เครื่องอุปโภค ยารักษาโรค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปยังปี 2485 น้ำท่วมใหญ่ จะพบว่าคนกรุงเทพสนุกสนานกับสภาพดังกล่าว เพราะบรรพบุรษไทยอยู่กับน้ำมาตั้งแต่เกิด และพบว่า คนที่พบกับปัญหาวิกฤติครั้งนี้สามารถพายเรือได้เพียงไม่กี่นาทีหลังจากระดับน้ำสูงขึ้น(มันอยู่ในสายเลือด) ในประเด็นนี้ อยากให้ลองพิจารณาตัวอย่างในหลายประเทศ(แถบสแกนดิเนเวีย และยุโรป) ที่อยู่ได้ด้วยภาคเกษตรและภาคธุรกิจชุมชน และพวกเขาเป็นประเทศที่ไม่ได้ยากจน แต่กลับมีการพัฒนาทางสังคมที่ก้าวหน้าเรียกได้ว่าศิวิไลซ์   
                ประเด็นที่สาม การทำงานของหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลกระทำภายใต้เป้าประสงค์หลักสองประการคือประการแรกภาคธุรกิจอุตสาหกรรมดังที่กล่าวแล้วในประเด็นที่สอง และสนองตอบต่อภาคการเมืองภายใต้เกมการเมืองที่ดุดัน ทั้งนี้ เหมาเอาว่าภาคเกษตรเป็นภาคที่ใช้ทรัพยากรน้ำสิ้นเปลือง ทั้งที่ผลผลิตทางการเกษตรมีปัญหาทั้งด้านราคาและด้านการตลาดซึ่งเป็นการให้ร้ายที่ไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก
                ประเด็นที่สี่ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำท่วม เมืองหลัก เมืองรองและเมืองบริวาร ควรจัดทำเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานของทางระบายน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายซึ่งไม่ก่อให้เกิดการขวางทางการไหลของน้ำและสามารถเป็นแนวระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความผิดพลาด(หรือเจตนา)ของการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งอาจเกิดขึ้นอีกก็ได้



Comments

Popular posts from this blog

ลิ้งค หน้าเว็บ